ลิงค์สำรองที่นั่งเตรียมสอบภาค ก ผู้บริหารสถานศึกษา

ลิงค์สำรองที่นั่งเตรียมสอบภาค ก ผู้บริหารสถานศึกษา
ข้อมูลของท่านระบบจะส่งไปยังอีเมล์ของผมและจะรักษาไว้เป็นความลับ

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

สพฐ.ถกปรับหลักสูตรใหม่รับอนาคต10-20ปี

สพฐ.ถกปรับหลักสูตรใหม่รับอนาคต10-20ปี
          สพฐ.จัดทัวร์ผู้บริหารนอกสถานที่ ถกปรับหลักสูตรอีกรอบ รองรับอนาคตพลเมืองยุคใหม่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เผยหลักสูตรปี 51 ยังไม่มีอะไรใหม่ โครงสร้างหลักยังเป็นของหลักสูตรปี 44 และถึงปรับแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จสักเรื่อง "ชินภัทร" บ่น 8 สาระวิชาเยอะเกินไปเป็นภาระเด็กประถมเรียนไม่เข้มข้น ขณะที่ ม.ต้นกับ ม.ปลายก็ต้องกำหนดจุดเน้นที่แตกต่าง พร้อมหารือลดหลักสูตร ม.ปลายเหลือ 5 ภาคเรียนเอาใจเด็ก
          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเตรียมการจัดประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นอกสถานที่ ในวันที่ 16-17 ก.พ.นี้ เพื่อจะหารือทิศทางของ สพฐ. รวมถึงการพิจารณาในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับบทบาทของคณะกรรมการ กพฐ. โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ในการกำหนดหลักสูตรและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะเปิดโอกาสให้คณะกรรมการได้รับฟังข้อมูลและผลการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตร ซึ่งขณะนี้มีเอกสารทางวิชาการต่างประเทศ เรื่อง Curriculum 21 ได้ตั้งคำถามที่ท้าทายว่า หลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันรองรับการเตรียมพลเมืองประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้าหรือไม่ และสามารถเตรียมพลเมืองของเราให้มีความพร้อมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงด้วยหรือยัง ซึ่งข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้มีแนวโน้มจะนำมาสู่การปรับปรุงหลักสูตร ถึงแม้ว่า สพฐ.จะมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมาแล้วในปี 2551 แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นหลักสูตร 2544 ที่นำมาปรับปรุงรายละเอียด เป็นฉบับปรับปรุง 2551
          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการเสนอข้อคิดเห็นจากกรรมการ กพฐ.หลายครั้ง ว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบันกำหนดให้เด็กเรียนถึงกลุ่มสาระวิชาไว้ 8 กลุ่ม ทำให้เด็กเล็กๆ เช่น ป.1 ป.2 ป.3 ต้องมาเรียนครบทั้ง 8 กลุ่มสาระ ซึ่งถือว่าเป็นภาระกับเด็ก ทั้งๆ ที่เด็กในช่วงชั้นต้นๆ ควรจะเรียนไม่กี่เรื่อง แต่เรียนให้แน่น และการที่ สพฐ. โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศจุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียน เป็นการแสดงให้เห็นว่ามันมีจุดหนึ่งจุดใดที่ควรจะต้องเน้น ซึ่งแสดงว่าหลักสูตรมีอะไรที่เยอะเกินไป ทั้งๆ ที่เราต้องการเน้นการอ่านออกเขียนได้ จึงทำให้การเรียนการสอนไม่เข้มข้นเพียงพอ ดังนั้นควรต้องลดการเรียนในช่วงชั้นดังกล่าวลง ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายก็ควรต้องกำหนดจุดเน้นที่ต่างกัน เช่น ภาษาต่างประเทศ การทำโครงงาน เป็นต้น โดยจะนำเรื่องนี้มาหารือกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดห่วงโซ่คุณภาพ ที่จะต้องดูเพื่อให้กระบวนการจัดการศึกษาสอดรับกันตั้งแต่กระบวนการหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการวัดผลประเมินผล ซึ่งต้องเป็นกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกันถึงจะเกิดผล ไม่ใช่พูดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
          "ในปัจจุบันมีหลายเรื่องที่สังคมมักจะสะท้อนมาว่าทำไมวิชานั้นวิชานี้ไม่มีเรียน ทั้งที่จริงแล้วก็มีการสอนในวิชาต่างๆ เช่น วิชาหน้าที่พลเมือง คุณธรรม จริยธรรมที่จะสอดอยู่ในวิชาสังคม ผมคิดว่าจะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาทบทวนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อกำหนดให้วิชาเหล่านี้มีความชัดเจนมากขึ้น" นายชินภัทรกล่าว และว่า ส่วนนักเรียนบางคนนำเสนอให้ปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้เหลือเพียง 5 ภาคเรียน เนื่องจากปัจจุบันนักเรียนจะมีเวลาว่างในภาคเรียนที่ 2 ของชั้น ม.6 นั้น ตนก็จะนำเสนอเข้าหารือในที่ประชุมด้วย
          เลขาธิการ กพฐ. ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้หารือการพัฒนาคุณภาพ รร.ขนาดเล็ก จำนวน 14,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะขาดแคลนบุคลากรผู้สอนในสาระต่างๆ ซึ่งในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 สพฐ.จะใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มช่องทางโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นอีกหนึ่งช่องสัญญาณ ทำเป็น OBEC Channel ขึ้นมา ซึ่งจะคัดครูเก่งมีผลงานดีเด่น เช่น ครูดีในดวงใจมาเป็นวิทยากรผู้สอน จะเน้นวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ส่วนรูปแบบรายการจะมีความหลากหลาย อาทิ สารคดี ข่าวการศึกษา เกมการศึกษา การนำเสนอรูปแบบโครงงานการสอน เชื่อว่าจะทำให้ครูใน รร.ขนาดเล็กได้พัฒนาไปในตัวด้วย.

          ที่มา: http://www.thaipost.net

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | fantastic sams coupons